ประวัติภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
ประวัติภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ : ผศ.พยูร เกตุกราย
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นภาควิชาขนาดใหญ่เริ่มก่อตั้งขึ้นมาพร้อม ๆ กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัย และเป็น 1 ใน 4 ภาควิชาที่ตั้งขึ้นพร้อมกันในสังกัดเดิมคือ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 โดยเปิดทำการสอน 4 แผนกวิชาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ได้แก่ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ และช่างโลหะ ซึ่งแผนกวิชาช่างโลหะ ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นช่างเทคนิคการผลิต แผนกเทคนิคการผลิต ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตามลำดับ มีนักศึกษาจบการศึกษาแล้ว 44 รุ่น (รุ่นที่ 1 เข้าศึกษาปี 2503 ถึงรุ่น 44 เข้าศึกษาปี 2546 จบปีการศึกษา 2549) จำนวน 2896 คน
ผมเป็นนักศึกษารุ่นแรกของสถาบันแห่งนี้ เมื่อผมจบมัธยม 8 สายวิทยาศาสตร์ พอถึงฤดูการสอบเอ็นทรานซ์ปีพ.ศ.2503 วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าศึกษาต่อ ณ สนามสมัครสอบและสนามสอบวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ทุ่งมหาเมฆ ในสมัยนั้น ผลปรากฏสอบเข้าได้ จึงเดินทางมาดูสถานที่โดยนั่งรถเมล์มาลงปากทาง กม.9 ถนนสุขสวัสดิ์ ซึ่งยังเป็นถนนดินลูกรัง แถมชำรุดทรุดโทรม เวลานั้นยังไม่มีรถประจำทางเข้ามาต้องเดินมาดูโรงเรียนใหม่ว่าอยู่ที่ไหน ใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ซึ่งระยะทางจริง ๆ จากปากทางถึงวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีประมาณ 2.5 กิโลเมตรเท่านั้น
17 พฤษภาคม 2503 เปิดเรียนภาคแรก นักศึกษาใหม่เริ่มมามอบตัว ลงทะเบียนเรียน แบ่งการเรียนออกเป็น 3 ภาคเรียน เริ่มเรียน 09:00 – 16:00 น. เรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ การเดินทางมาเรียนลำบากมากต้องนั่งรถเมล์จากวงเวียนใหญ่ มาตามถนนสุขสวัสดิ์มาลงปากทาง กม.9 ถนนแยกเข้าบางมด ปี 2503 ยังเป็นดิน (โคลน) บางวันฝนตกหนัก ถนนใช้งานไม่ได้ต้องนั่งเรือจ้างในคลองราษฎร์บูรณะ ผ่านวัดสารอด มาขึ้นท่าน้ำด้านหลังวิทยาลัยสถานที่เรียนปีแรก มีอาคารเรียนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 1 หลัง แบ่งเป็นหลายห้องเป็นห้องทำงานของอาจารย์
ห้องเรียน ห้องฝึกงาน (ส่วนมากห้องฝึกงานอยู่ชั้นล่าง) มีโรงอาหารเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวครึ่งหลัง (อาจารย์บอกว่ามีงบประมาณแค่นั้น) โรงอาหารครึ่งหลังนี้ยังแบ่งเป็นที่ฝึกงานของช่างก่อสร้าง และช่างโลหะด้วย นอกจากนั้นยังมีบ้านพักอาจารย์ 1 หลัง ซึ่งบ้านพักอาจารย์ได้ถูกสร้างเพิ่มในปีถัดมาอีกเป็นสิบหลัง แต่ปัจจุบันนี้ อาคารเหล่านั้นถูกเลิกใช้งานแล้วเพราะต้องใช้พื้นที่สร้างอาคารสูงเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา 2503 รุ่นแรกปีแรก เรียนวิชาทุกวิชาเหมือนกันหมด ได้แก่วิชาช่างพื้นฐานทั้ง 4 ช่างและวิชาเขียนแบบทั่วไป นอกจากวิชาช่างแล้วยังมีเรียนวิชาสามัญและวิชาสัมพันธ์กับวิชาช่างอีก 6 วิชาคือ ภาษาอังกฤษ จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์ คิดผลการเรียนเป็นเปอร์เซ็น เกณฑ์ตัดสินร้อยละ 60 ถือว่าผ่าน และยังไม่มีการแยกช่าง แต่แยกห้องเรียนเป็นห้อง ก. ข. ค. ง. จ. และ ฉ. รวม 6 ห้อง มีนักศึกษารวม 304 คน ในจำนวนนี้ มีนักศึกษาหญิง 1 คน คือ น.ส.สุนันทา ป้อมเอี่ยม แต่ละห้องมีอาจารย์ประจำชั้นคอยดูแลใกล้ชิด มีนายระพี พฤกษะวัน หัวหน้าห้อง ก. เป็นประธานนักศึกษาคนแรก
สมัยนั้น พออาจารย์เข้าห้องสอน นักศึกษาทุกคนต้องยืนตรงทำความเคารพทุกครั้ง การเรียนการสอนของอาจารย์เป็นกันเองกับลูกศิษย์ เหมือนญาติสนิท นักศึกษาก็เป็นกันเองเหมือนพี่น้องกัน เพราะรียนรวมกันหมด รู้จักกันเกือบหมดเพราะมีคนน้อย การลงปฏิบัติปีแรกจะฝึกหัดทำงานจริง เช่น ช่างก่อสร้าง (โยธา) ขนดินลูกรังทำถนน ซ่อมถนน สร้างบ้านพักอาจารย์ ช่างยนต์ (เครื่องกล) ซ่อมเครื่องยนต์จริง ช่างไฟฟ้า (ไฟฟ้า) ฝึกเดินสายไฟตามบ้านพักอาจารย์ ช่างโลหะ(อุตสาหการ) ทำการบัดกรีรางน้ำฝนบ้านพักอาจารย์ ทำลูกกรง สนุกสนานกันดี ได้ของไว้ใช้ ได้ความสามัคคี ได้รู้คุณค่าของชีวิตในยามนั้น ตอนลงฝึกงานต้องติดป้ายชื่อที่หน้าอกเพื่อให้รู้จักกัน วันศุกร์ตอนเลิกฝึกงาน มีการสวดมนต์ก่อนกลับบ้าน และมีกิจกรรมหนึ่งที่ทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันคือพิธี “ไหว้ครู”
ปี พ.ศ.2506 (ปีการศึกษา 2505) ผมจบจาก ปว.ส.ช่างโลหะรุ่นแรก ตอนนั้นยังไม่เปิดสอนปี 4-5 จึงออกไปทำงานที่ บริษัท เหล็กสยาม จำกัด (บริษัทในเครือ บ.ซีเมนต์ไทย) ที่ท่าหลวง สระบุรี ปี พ.ศ.2508 ประมาณเดือนเมษายน วิทยาลัยเทคนิคธนบุรีเปิดสอนปี 4-5 รับผู้จบ ปว.ส. เรียนต่อ 2 ปี ผมสมัครสอบเข้าเรียนต่อได้ จึงลาออกจากบริษัท เหล็กสยาม จำกัด มาเรียนต่ออีก 2 ปี ปี พ.ศ.2510 ผมจบการศึกษา (ปีการศึกษา 2509) ได้วุฒิ ป.ทส. (ประกาศนียบัตรเทคนิคชั้นสูง) มาสมัครสอบเข้าเป็นอาจารย์ที่บางมด ได้ประจำสาขาวิชาหล่อโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ตั้งแต่ปี 2510 จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2542 และยังช่วยทำงานให้มูลนิธิเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจนถึงปัจจุบัน
ปี 2511 มหาวิทยาลัยสร้างหอพักนักศึกษาชาย ชื่อ “หอพักสันติ” รับนักศึกษาเข้าอยู่ได้ 96 คน มี ดร.สมชัย คงศาลา อาจารย์ประจำช่างไฟฟ้าเป็นผู้ปกครองหอพักคนแรก และผมได้เป็นรองผู้ปกครองหอพัก หอพักเปิดดำเนินการได้เกือบปี ดร.สมชัย คงศาลา ก็ลาออกจากราชการ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองหอพักต่อมา ที่หอพักจะต้องออกกฎระเบียบเกี่ยวกับหอพักเพื่อให้นักศึกษาหอพักปฏิบัติตาม นักศึกษาก็ชอบกระทำผิดกฎระเบียบเสมอ เช่น กฎห้ามเล่นการพนัน นักศึกษาหอพักก็ชอบเล่นไพ่กันมากต้องคอยตรวจตราเสมอแม้ตอนกลางคืน จับได้ก็ยึดไพ่ ได้เป็นจำนวนมากมาย หรือห้ามดื่มของมึนเมา ก็ชอบฝืนกฎกันประจำ ห้ามกลับเข้าหอเกินสี่ทุ่ม ส่วนใหญ่ก็ชอบเกิน แต่ก็ใช้วิธีการทั้งพระเดชและพระคุณปกครอง แต่ส่วนใหญ่จะใช้พระคุณ เหมือนพี่ปกครองน้อง มีกิจกรรมดี ๆ ก็มีเช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ก็จะประดับธงชาติ พระบรมฉายาลักษณ์และประทีปโคมไฟโดยนักศึกษาร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ อยู่เวรขายน้ำอัดลม เอากำไรมาตั้งเป็นสวัสดิการให้นักศึกษายืมเมื่อทางบ้านส่งเงินมาให้ล่าช้า นอกจากนั้นยังให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ (ถ้าไม่ใช่โรคซุกซน) ก็เป็นสิ่งดีๆ ที่นักศึกษาหอพักได้ทำ (หอพักสันติใช้งานมาได้ 30 กว่าปีถูกรื้อทิ้ง สร้างหอพักใหม่เป็นหอพักนักศึกษาชาย 1 หลัง หญิง 1 หลังรับนักศึกษาเข้าอยู่ได้รวม 1,332 คน แบ่งเป็นหอพักหญิง 944 คนหอพักชาย 388 คน (ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนนาหลวงในปัจจุบัน)
ปี 2515 บ้านพักอาจารย์ว่าง จึงขอลาออกจากผู้ปกครองหอพักมาอยู่บ้านพักอาจารย์ ตอนนั้นมีบ้านพักอาจารย์ – เจ้าหน้าที่ นักการภารโรง หลายหลัง ทั้งบ้านโสดและบ้านครอบครัว นับเป็นสวัสดิการที่ดีที่สถาบันมีให้แก่บุคลากร อยู่ฟรี เสียค่าน้ำไฟเอง แต่ทุกคนที่อยู่บ้านพักจะต้องอยู่เวร- ยามตอนกลางคืน โดยมีนักการภารโรงเป็นยาม และอาจารย์และเจ้าหน้าที่เป็นผู้ตรวจเวรยาม ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่รักษาทรัพย์สินของทางราชการในยามวิกาล ปี 2526 เป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่ทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหายบ้าง ซึ่งผู้อยู่บ้านพักมีส่วนช่วยกันกู้วิกฤตการณ์ให้ผ่านพ้นมาด้วยดี บ้านพักอาจารย์เจ้าหน้าที่ นักการภารโรงรับใช้สถาบันมาได้กว่า 30 ปีก็ถูกรื้อเพื่อเอาพื้นที่ไปใช้พัฒนามหาวิทยาลัย (บ้านพักอาจารย์สมัยนั้นตั้งอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัย บริเวณอาคารสัมมนาปัจจุบันกลุ่มหนึ่ง และด้านหลังมหาวิทยาลัยบริเวณตึกจุลชีววิทยาในปัจจุบัน อีกกลุ่มหนึ่ง)
วิวัฒนาการภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
รอบที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2503-2515
นักศึกษารุ่นแรก ปีการศึกษา 2503 เรียนทุกวิชาเหมือนกันหมดยังไม่แยกช่าง แยกช่างตอนขึ้นปี 2
นักศึกษารุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2504 กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้ใช้หลักสูตรใหม่ แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชาเหมือนเดิมคือ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ และช่างโลหะ นักศึกษาตั้งแต่รุ่นนี้เป็นต้นไป ต้องแยกเรียนตามฝ่ายวิชาที่ตนเลือก ตั้งแต่เข้าปี 1 ทั้งนี้เพื่อให้ได้เรียนในสาขาที่ตนเลือกได้เต็มที่
สำหรับช่างโลหะ ยังแบ่งการลงฝึกวิชาปฏิบัติออกเป็น 3 สาขาวิชาได้แก่ สาขาช่างกลโรงงาน (Machine Tool) ช่างหล่อโลหะ (Foundry) และช่างเชื่อมและโลหะแผ่น (Welding and Sheet Metal) ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติงานที่เข้มข้น เหมือนทำงานจริงและได้รับการถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่นตลอดมา นอกจากนั้นทางด้านทฤษฎีได้มีการปรับปรุงหลักสูตรตลอดมาเช่นเดียวกัน จนได้รับปริญญาย้อนหลัง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2509 ถึง ปีการศึกษา 2514 และมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2515
รอบที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2516-2527
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ยังเจริญเติบโตมาโดยลำดับ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารฝึกปฏิบัติงานและเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นในรอบที่ 2 นี้ยังได้เปิดสอนสาขาวิชา บริหารอุตสาหกรรม (Industrial Management) และสาขาวิชาช่างทั่วไป (Basic work shop) สำหรับสาขาวิชาช่างทั่วไปใช้สำหรับสอนนักศึกษานอกภาควิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และในคณะวิทยาศาสตร์บางภาควิชาด้วย ดังนั้นภาควิชาจึงมีโรงฝึกงาน (work shop) รวม 5 โรง ได้แก่ อุตสาหการ 1 (ช่างกลโรงงาน) อุตสาหการ 2 (ช่างหล่อโลหะ) อุตสาหการ 3 (ช่างเชื่อมและโลหะแผ่น) อุตสาหการ 4 (ช่างทั่วไป) และอุตสาหการ 5 (สาขาบริหารอุตสาหกรรม)
รอบที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ.2528 – 2539
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์หลักสูตร 5 ปี 190 หน่วยกิต ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 ถึง พ.ศ.2535 จึงลดเวลาเรียนเหลือ 4 ปี 148 หน่วยกิต จนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2550) ถึงกระนั้นก็ตามภาควิชายังคงรักษาความเข้มข้นด้านปฏิบัติไว้ได้ตามสมควรกับเวลาที่มีอยู่
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533-2539 รัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ได้จัดสรรทุนการศึกษาต่อต่างประเทศให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ (จนถึงปริญญาเอก) (ส่วนมากสหรัฐฯและอังกฤษ) รวมทั้งสิ้น 18 คน สำหรับกลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ในสาขาวิชาต่าง ๆ ตามความต้องการของภาควิชา
ในปี พ.ศ. 2537 สาขาวิชาช่างกลโรงงาน (อุตสาหการ 1) ได้แยกตัวไปตั้งเป็นภาควิชาใหม่ คือ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ (Tool Engineering and Materials) สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์เหมือนเดิม
รอบที่ 4 ระหว่างปี พ.ศ.2540-2551 (ครบ 4 รอบ 48 ปี 4 ก.พ. 2551)
ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ยังคงให้ทุนอาจารย์ศึกษาต่อต่างประเทศถึงปริญญาเอกอีก 4 ทุน สำหรับนักเรียนทุนรุ่นก่อนได้จบการศึกษาและมาประจำสาขาวิชาต่าง ๆ ของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการหมดแล้ว
7 มีนาคม 2541 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการสถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ แต่อยู่ในกำกับของรัฐบาล เป็นมหาวิทยาลัยแรกตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ.2541 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2541
หลังจากนักเรียนทุนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหการแล้ว ภาควิชาจึงเริ่มโครงการสอนระดับปริญญาโท-เอก ตามลำดับดังนี้
- ปี พ.ศ.2542 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิศวกรรมระบบการผลิต (Leader for Manufacturing Competitiveness- LMC)
- ปี พ.ศ.2544 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิศวกรรมการเชื่อม (Welding Engineering)
- ปี พ.ศ.2545 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโลหการ (Metallurgical Engineering) และยังเปิดสอนปริญญาตรีสาขาใหม่ คือ สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ขึ้นในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการด้วย
- ปี พ.ศ.2547 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิศวกรรมคุณภาพ (Quality Engineering)
- ปี พ.ศ.2548 เปิดสอนปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการผลิตและระบบ (Manufacturing and Systems Engineering)